Content > Handbook

6 Checklists สิ่งต้องทำเมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น 

6 Checklists สิ่งต้องทำเมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น 

📌 1) การกักตัว

ตามที่ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าสำหรับการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จะต้องทำการกักตัวที่โรงแรมเป็นเวลาทั้งหมด 14 วัน โดยปกติแล้ว หากได้รับทุนการเรียน มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้จัดการเรื่องโรงแรมให้ แต่ถ้าหากมาเรียนด้วยตนเอง จำเป็นที่จะต้องจัดการจองที่พักด้วยตัวเอง โดยสามารถค้นหาบนกูเกิ้ลได้เลยว่ามีโรงแรมไหนที่รับกักตัวแถวสนามบินบ้าง สำหรับท่านที่มี Re-entry permit สามารถเดินทางกลับมากักตัวที่บ้านได้เลย แต่ต้องใช้ระบบขนส่งส่วนตัว เช่น รถยนต์ส่วนตัว หรือการเช่ารถรับ-ส่ง

บริษัทที่ให้บริการรับ-ส่งสามารถดูได้ที่นี่: https://www.mhlw.go.jp/…/seisakunits…/newpage_00020.html

กฎระเบียบการกักตัว: https://www.mhlw.go.jp/…/bunya/0000121431_00263.html

📌 2) ติดต่อการใช้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ 🏠

สำหรับที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นหอพักนักศึกษาอาจจะมีเฟอร์นิเจอร์ติดมากับห้องแล้ว แต่ถ้าเป็นการเช่าอพาร์ตเมนท์โดยทั่วไปจะไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ต่างๆมาเลย ซึ่งอาจจะลำบากในช่วงแรกที่มาถึง นอกจากของใช้แล้ว ยังต้องติดต่อไปยังบริษัทน้ำ แก๊สและไฟ รวมถึงสมัครอินเตอร์เน็ตด้วย สำหรับสาธารณูปโภค สามารถทำล่วงหน้า 1-2 วันได้ แต่อินเตอร์เน็ตอาจใช้เวลานานถึงอาทิตย์หรือเดือน เพราะฉนั้นควรดำเนินการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ลำบากภายหลังนะคะ🧐

📝เกร็ดความรู้

> ตอนทำสัญญาเช่าบ้าน ทั่วไปจะต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” ในกรณีที่ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าตามระยะเวลาที่กำหนด หรือทำข้าวข้องในห้องเสียหายและไม่จ่ายค่าซ่อมแซม เจ้าบ้านจะเรียกร้องเก็บค่าใช้จ่ายจาก “ผู้ค้ำประกัน” หรือหากไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันได้ สามารถใช้บริการบริษัทค้ำประกัน โดยบริษัทค้ำประกันอาจจะต้องมีการคัดเลือกและตรวจสอบประวัติของผู้เช่าห้องเบื้องต้นก่อน

> การทิ้งขยะจะค่อนข้างเข้มงวด บางเขตจะต้องซื้อถุงขยะที่ทางเขตระบุไว้เพื่อทิ้ง จำแนกออกเป็นถุงขยะเผาได้ เผาไม่ได้ เป็นต้น โดยทั่วไปสามารถหาซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อ และจำเป็นจะต้องทิ้งตามวันที่กำหนดเพื่อไม่ก่อความเดือดร้อนให้ผู้ที่อาศัยในอพาร์ตเมนท์เดียวกัน

📌 3) ทำเรื่องแจ้งย้ายเข้าที่เทศบาลเขต (ลงทะเบียนที่อยู่อาศัย และข้อมูลส่วนตัว และบัตรประกันสุขภาพ)

หลังจากเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการไปแจ้งที่อยู่อาศัยที่เทศบาลเมือง หรือ “市役所” เพื่อยืนยันตัวตน การพำนักอยู่จริงและเพื่อให้เอกสารสำคัญส่งมายังที่อยู่เราได้อย่างถูกต้อง โดยเอกสารที่จำเป็นต่อการทำเรื่อง คือ บัตร resident card และเอกสารยืนยันตัวตนเช่น Passport เป็นต้น

นอกจากนี้ที่สำนักงานเขตยังมีการทำเรื่องลดหย่อนประกันสุขภาพสำหรับนักเรียนประกันสุขภาพ (อ้างอิงข้อมูลมาจาก Student Guide to Japan โดย องค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่นJASSO)

ญี่ปุ่นมีระบบประกันสุขภาพเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจะต้องเข้า “ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ” (หรือชื่อย่อ 国保) โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เทศบาลเมือง หรือ 市役所

เนื่องจากสถานศึกษามีข้อมูลแนะนำประกันประเภทต่างๆ นักศึกษาจึงควรลองพิจารณาดู เช่น “ระบบการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลสำหรับนักศึกษาที่ศึกษาต่อหรือทำวิจัย (Personal Accident Insurance for Students Pursuing Education and Research – Gakkensai)” ระบบประกันของสมาคมส่งเสริมการศึกษาฯ (JEES)

※นักศึกษาควรลองสอบถามข้อมูลก่อน เนื่องจากมีทั้งสถานศึกษาที่สามารถใช้และไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้  http://www.jees.or.jp/gakkensai/

📌 4) การทำธุรกรรมอื่น ๆ

🔶การเปิดบัญชีธนาคาร

สำหรับนักเรียนทุน มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องบัญชีให้ แต่ถ้าหากต้องไปทำเรื่องเองทั้งหมด จำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารในการเปิดบัญชี คือ บัตร resident card พาร์ตสปอร์ต และ 印鑑 หรือตราประทับที่เป็นชื่อตัวเอง เพราะการดำเนินเรื่องที่ญี่ปุ่น มีหลายที่ที่ห้ามใช้การเซ็นต์ แต่ต้องใช้เป็นตราประทับแทนเท่านั้น (การทำ印鑑 (ตราประทับ) ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 2,000 เยน)

※ สำหรับคนต่างชาติในญี่ปุ่น  เนื่องจากการดำเนินเอกสารสำคัญ คนญี่ปุ่นจะใช้ตราประทับแทนการใช้ลายเซ็นต์ การทำตราประทับชื่อตัวเองจึงจำเป็นโดยราคานั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนตัวอักษร คนไทยจะมีชื่อและสกุลที่ยาวมาก แนะนำให้เลือกใส่เฉพาะชื่อหรือสกุล และใช้ตัวอักษรเป็นคาตาคานะแทนภาษาอังกฤษ มีข้อควรระวังคือตราประทับของญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบ ตราประทับที่สามารถใช้ได้จริงคือตราประทับลายชื่อตัวเองที่ไม่มีการฝังหมึกในตัว แต่จะต้องปั๊มหมึกสีแดงเวลาจะประทับทุกครั้ง (สามารถทำได้ตามร้านที่รับทำ ดองกี้และอื่นๆ)

บนโลกออนไลน์อาจจะมีการขายตราประทับที่เรียกว่า  “シャチハタ” ซึ่งเป็นเหมือนตราหมึกซึมที่มีตัวหมึกฝังอยู่ในตัวแล้ว เนื่องจากทำการซื้อขายได้ง่ายมากและไม่ต้องมีการยืนยันตัวตน シャチハタ จึงไม่สามารถใช้ได้ใเพราะอาจเสี่ยงต่อการปลอมแปลงเอกสารค่ะ

🔶เบอร์โทรศัพท์

ค่ายโทรศัพท์ในญี่ปุ่นมีค่อนข้างหลากหลาย และมีหลายราคามาก ๆ โดยการทำสัญญานั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 20 ปี) อาจจะต้องมีผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วไปช่วยทำสัญญาด้วย

📌 5) หาข้อมูลทำงานพิเศษ💸

การทำงานพิเศษสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติ ในช่วงเปิดเทอม สามารถทำได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมง/สัปดาห์ (ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน) และในช่วงปิดเทอม สามารถทำได้มากสุด 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และในการที่จะทำงานนั้น จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตามสถานภาพ (Permission to Engage in Activity Other than that Permitted under the Status of Residence Previously Granted) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องถิ่นที่ใกล้ที่สุด ผู้เดินทางเข้าประเทศครั้งแรกที่มีสถานภาพการพำนักประเภท “College Student” และมีระยะเวลาพำนักเกิน 3 เดือน สามารถขออนุญาตทำกิจกรรมนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตามสถานภาพได้ที่สนามบินในขั้นตอนการตรวจลงตราเข้าประเทศ (แนะนำให้ขอให้เสร็จที่สนามบินตั้งแต่แรก เพราะถ้าไปขอทีหลังจะใช้เวลานานและมีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าเดิม)

📌 6) อย่าลืมสมัครสมาชิก TSAJ!!💝

เพื่อรับข่าวสารและสิทธิพิเศษต่างๆมากมาย 

โดยคุณสมบัติ คือเป็นนักศึกษา ป.ตรี ป.โท ป.เอก ของสถาบันในประเทศญี่ปุ่น

โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ของสมาคม TSAJ  หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร คือบัตรนักศึกษา และ บัตร Resident card

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก JASSO:

https://www.studyinjapan.go.jp/…/2020/12/sgtj_2019_th.pdf

สุดท้ายแล้ว อย่าลืมกดไลค์เพจเฟซบุ๊ค TSAJ เพื่อติดตามข่าวสาร อีเวนท์ต่างๆที่จัดให้นักเรียนไทยในญี่ปุ่นได้เข้าร่วมกันทุกปีนะคะ🥰