Content > Handbook

ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่ายครั้งแรก + ระหว่าง เช่าห้องในญี่ปุ่น

หลายคนในช่วงนี้ อาจจะกำลังหาที่อยู่ใหม่และไม่แน่ใจถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมก่อนที่จะย้ายบ้าน เราจึงนำบทความที่คุณธเนษฐ ปราณีนรารัตน์ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนทญ.) รุ่นที่ 72 เขียนไว้ มาแบ่งปันความรู้ให้กับทุกท่านที่สนใจกันค่ะ

คำย่อ

1R คือห้องประเภทห้องเดียว ทุกอย่างรวมในนั้น แทบไม่มี partition หรือประตูกั้น ยกเว้นแค่ห้องน้ำ (บางที่ใช้คำว่า studio)

1K คือหนึ่งห้องนอน หนึ่งครัว ซึ่งครัวจะเล็กใหญ่ก็แล้วแต่ที่

1DK คือห้องนอนหนึ่ง ครัวกับห้องกินข้าวอีกหนึ่ง จริงๆ เทียบแล้วคือ 1K แบบใหญ่ๆ น่ะแหละ

1LDK คือห้องนอนหนึ่ง ครัวห้องกินข้าวห้องนั่งเล่น อีกหนึ่ง (หรืออาจจะเป็น ครัวแยก แล้วห้องกินข้าวกับห้องนั่งเล่นรวมกันก็ได้) ห้องที่เราหาจะเป็นสี่แบบนี้เป็นหลัก โดยเน้นไปที่ 1DK เพราะตรงกับงบและความต้องการมากสุด

ค่าที่ต้องจ่ายก่อนเข้าห้องใหม่

หาห้องในญี่ปุ่นนั้น นอกจากค่าเช่ารายเดือนแล้ว มันจะมีค่าจิปาถะ บลาๆ นั่นนี่เต็มไปหมด งอกออกมามากมาย ดังนี้

  1. ค่าขอบคุณเจ้าบ้าน (key money) อันนี้จริงๆ จะเรียกขอบคุณเจ้าบ้าน หรือขอบคุณบริษัทดูแลบ้าน ก็ได้ ไม่มีอะไรเลย มันคือเป็นค่าที่ชั้นอยากจะเก็บแก ว่ากันง่ายๆ ส่วนนี้ ถ้าบ้านเก่า หรือ เป็นช่วง off season หลายๆ ที่จะไม่เก็บเลย และใช้เป็นจุดขายหนึ่งของบ้านนั้นๆ ถ้าห้องที่อยู่คนเดียว ส่วนใหญ่จะเก็บตั้งแต่ 0-2 เท่าของเงินค่าเช่า
  2. ค่าประกัน (deposit money) จริงๆ เคยไปไว้ว่า ค่าปูเสื่อ ค่าอันนี้เปรียบเสมือนตัวประกัน กันเราทำห้องเลอะเทอะ ผนังพัง พื้นยุบ ฯลฯ ถ้าเกิดเราไปแล้ว เราไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย เค้าจะแย่เป็นต้น ก็จะเก็บไว้เป็นตัวประกัน ห้องอยู่คนเดียว ตอนเราย้ายออก จะหักค่าทำความสะอาดห้องไป แล้วคืนที่เหลือให้เรา ส่วนนี้จะเก็บราวๆ 0-2 เท่าของค่าเช่า
  3. ค่าเช่าเดือนแรก ตรงไปตรงมา คือขอค่าเช่าเดือนแรกไปก่อน ไม่ให้อยู่ฟรีๆ นะ ถ้าไปย้ายกลางๆ เดือน ก็จะโดนไปเป็นเดือนครึ่ง เดือนกับอีกสิบวัน ฯลฯ แล้วแต่คำนวณเป็นวันๆ ไป
  4. ค่าประกันไฟไหม้ + ค่าเปลี่ยนกุญแจ + ค่าทำความสะอาด กำจัดปลวก ฯลฯ อันนี้ยิบย่อยมากๆ ประกันไฟไหม้ เท่าที่เห็นๆ ราวๆ 15000-20000 เยน เปลี่ยนกุญแจก็อีก 20000 เยน ค่ากำจัดปลวกอะไรนี่ก็แอบโกงนิดๆ คือเล่นเก็บทั้งคนเก่าย้ายออก ก็หักค่าประกัน (ข้อสอง) เราจะเข้าก็เก็บเราอีก แต่ค่าอันนี้ไม่ได้มีทุกหลัง ห้องที่ดูๆ ไว้ เท่าที่ดูคคร่าวๆ ไม่เจอ มีแต่ค่าประกันไฟไหม้ กับกุญแจ ที่มักจะโดน บางทีประหลาดหนัก คือไม่ได้หักค่าประกันข้อสองอย่างเดียว มีเก็บค่าทำความสะอาดแยกอีก รวมๆ แล้วข้อนี้ น่าจะเสียราวๆ 4 หมื่นเยน
  5. ค่าธรรมเนียมนายหน้า ส่วนนี้เท่ากับค่าเช่าเดือนนึง หรือ 1.05 ของค่าเช่า  ตรงนี้เป็นส่วนที่นายหน้าอ่อนให้เราได้มากสุด เพราะมันเป็นค่าเค้าเอง (ส่วนอื่นๆ นายหน้าต้องไปคุยกับบ.ดูแลบ้าน หรือเจ้าบ้าน เพื่อต่อราคา) อย่างนายหน้าเจ้าที่ใช้บริการอยู่ มีแคมเปญกับบริษัท ลดธรรมเนียมให้เหลือแค่ 1/2 ของราคาค่าเช่า  บางทีอาจจะลดเป็นจำนวนเงินไปเลยก็ได้  ส่วนนี้มีทริกว่า ถ้า บริษัทดูแลบ้านที่เราอยากได้เค้ายอมทำรับสมัครโดยตรง บางกรณีจะไม่ต้องเสีย  วิธีนี้แอบวุ่นวาย ต้องติดต่อเองเป็นเจ้าๆ แถมดีลใหม่หมด เราเลยตัดสินใจว่า จะไม่ทำ
  6. ค่าค้ำประกัน ส่วนนี้สำหรับคนไม่มีคนค้ำประกันให้  ก็ต้องใช้บริษัทค้ำประกัน ก็จะเสียอีกเท่าค่าเช่าเดือนนึง หรือ 0.5-0.8 ของค่าเช่า แต่ก่อนเคยเข้าใจว่า บริษัทดูแลบ้าน ชอบกรณีเป็นคนๆ ค้ำให้มากกว่า (เพราะตอนย้ายห้าปีก่อนได้ยินแบบนั้น) แต่มาย้ายคราวนี้ พบว่าไม่ใช่ บางที่ชอบเป็นบริษัทค้ำมากกว่า (บางที่บังคับเลยว่าต้องใช้ แบบนี้เราก็ต้องเสียเต็มๆ แม้จะมีคนยอมค้ำให้เรา ซึ่งแต่ก่อนเป็นเซนเซของเราเอง)

ส่วนค่าแปลกประหลาดที่เราเพิ่งเคยเจอครั้งนี้คือ

  • ค่าประกันแบบที่จะถูกหักแน่นอน (ไม่รู้จะแปลว่าอะไรจริงๆ) ถ้าศัพท์ญี่ปุ่นก็จะใกล้เคียงค่าเบอร์สองในหัวข้อก่อน แต่เป็นประกันแบบที่ตรูจะเอา (คือไม่คืนให้ตอนย้ายออก) อารมณ์ว่าเป็นค่าเสื่อมราคา ตอนเจอนี่หงายเงิบ มีห้องนึงเล่นโปรโมทว่าไม่เก็บค่าขอบคุณเจ้าบ้าน แต่ขอเก็บค่าประกันแบบนี้ พอรู้ความหมายเลยงงว่า แกจะแยกออกมาทำไมฟระ ก็รวมๆ กันไปเสะ

ส่วนค่าที่จะช่วยชีวิตเราได้ มีอย่างเดียวคือ

  • free rent ถ้าหาห้องช่วงเดือนกันยา ตุลา จะมีแคมเปญนี้เยอะมากๆ เพราะคนไม่ย้ายบ้านกันตอนนั้น ฟรีเรนท์คือให้ฟรีๆ อยู่ฟรีๆ ไปเลย จะเดือน สองเดือนก็แล้วแต่ (ส่วนใหญ่ไม่เกินสองเดือน) บางที่ที่ห้องแพงๆ จะใช้วิธีลดราคาให้ 30-50% เป็นเวลาหกเดือนเป็นต้น ช่วงนี้(ช่วงปลายปี)ที่เราหา แทบจะไม่มีห้องที่มีฟรีเรนท์แล้ว เพราะใกล้เทศกาลจะย้ายบ้าน

ค่าที่ต้องเสียระหว่างอยู่

  • ค่าต่อสัญญา ปกติเท่ากับ ค่าเช่าเดือนนึง ซึ่งถ้าค่าเช่าแพง ก็โดนต่อสัญญาแพง ปกติจะแล้วแต่กำหนดว่าสัญญากี่ปี แต่พักหลังทุกอย่างมันเป็นสองปีๆ เกือบหมด (มือถือยังต้องต่อสองปีครั้ง เน็ต pocket wifi ก็เช่นกันเอาเปรียบสุดๆ) บางบ้านก็เป็นของบริษัทนั้นเองก็ยังเก็บอยู่ดี (มันจะมีบางบ้านเป็นเจ้าบ้านขายให้บริษัทดูแล แบบนี้ เงินค่าเช่าเข้าตัวเจ้าบ้าน ส่วนบริษัทดูแลได้เงินแค่ตอนเราย้ายบ้าน เค้าเลยไม่พอยาไส้ ต้องคิดค่าต่อสัญญาขึ้นมา สองฝ่ายนั้นได้เงิน แต่เราเสียเงินทั้งขึ้นทั้งร่อง)

ค่าอื่นๆ

  • ค่าย้ายบ้าน แล้วแต่วิธี บางคนก็เช่ารถ ขอเพื่อนมาช่วยขน บางคนก็จ้างลุงขนของเจ้าประจำ (เหมาะกับคนของไม่มาก) บางคนก็จ้างบริษัทย้ายบ้าน
  • ค่าเฟอร์นิเจอร์ ส่วนนี้ เราคงไม่ค่อยเสียแล้ว เพราะมีของเก่าอยู่ คงจะย้ายไปใช้ด้วยกันเกือบหมด ยกเว้นบางอันเกะกะ (เช่นเก้าอี้ออกกำลังกาย หรือดัมเบล โต๊ะเก่าๆ) ก็จะทิ้งไป (ต้องเสียค่าทิ้งด้วยนะ ประเทศนี้ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง)

จะเห็นได้ว่า ค่าแรกเข้า มันยุบยับไปหมด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรางงงวย และต้องจัดแบทเทิลระหว่างห้องกันไปเลย ว่าจะเอาห้องไหนอยู่ต่อ เพราะบางที่ค่าเช่าถูก แต่ดันเก็บ ค่าแรกเข้าแพงหูฉี่ ก็จ่ายไม่ไหว เงินเก็บอาจจะไม่พอเป็นต้น บางที่ค่าเช่าเหมือนแพง แต่อาจจะมี ฟรีเรนท์ หรืออาจจะเก็บค่าแรกเข้าน้อย ก็น่าจะย้ายง่ายกว่า เครื่องมือที่จะช่วยพิจารณาได้นอกจากความชอบ โลเคชัน ฯลฯ ของห้องแล้ว คือ เครื่องคำนวณ 目安賃料 หรือ ค่าเช่าที่ต้องเสียตามเป้าหมาย

http://www.jpm.jp/sta/sta_00.html?PHPSESSID=16e325a585c20f3f116f032860be4b6c

http://www.daiichi-fu.co.jp/meyasu/calculate.html

(Japanese only)

มันคือการคำนวณว่า ถ้าเราอยู่ห้องสี่ปี รวมค่าเบอร์ 1 + ค่าประกันแบบบังคับหัก – ค่าฟรีเรนท์ + ค่าต่อสัญญา + ค่าเช่า 4 ปี แล้วมาหาร 48 เพื่อดูว่า จริงๆ ต่อเดือนตกเดือนละเท่าไร วิธีนี้ จะทำให้มองภาพได้กว้างขึ้นว่า จริงๆ ต่อเดือนแล้วตกเท่าไร แต่มันก็จะมีปัญหาเล็กน้อย คือเค้าไม่รวมค่าประกัน (เบอร์สอง) ค่าเปลี่ยนกุญแจ ค่านายหน้าเอาไว้ (เพราะเค้าคิดว่าค่าประกันส่วนใหญ่ได้คืน ค่าเปลี่ยนกุญแจ นายหน้า ฯลฯ ก็เสียเท่ากันเกือบทุกบ้าน) เลยอาจจะใช้ตัดสินใจหลักๆ ทั้งหมดไม่ได้ เพราะบางคนเงินเก็บอาจจะน้อย ยังไงก็ต้องเลือกห้องที่เสียแรกเข้าน้อยไว้ก่อน หรืออย่างเราวางเป้าไว้ที่สามปี ก็ต้องเอามาหาร 36 แทน เป็นต้น (ถ้าจะซีเรียสคิดให้ objective)

Example

  1. ห้องแคนดิเดทอันดับหนึ่งของเรา ค่าเช่า 135.000 เยน คูณสี่ปี + ค่าขอบคุณ 2 เดือนค่าเช่า + ค่าต่อสัญญาทุกสองปี 1 เดือนค่าเช่า รวมแล้ว เท่ากับ 6,885,000 หาร 48 เดือน ตกเดือนละ 143438 เยน
  2. ห้องแคนดิเดทอันดับสอง ค่าเช่า 138,000 เยน คูณสี่ปี + ค่าส่วนกลางของบ้าน 7000 เยน คูณสี่ปี + ไม่มีค่าขอบคุณ! + ค่าต่อสัญญาทุกสองปี 1 เดือนค่าเช่า รวมแล้ว เท่ากับ 7,098,000 หาร 48 เดือน ตกเดือนละ147875 เยน

ดูจากราคาเผินๆ ก็น่าจะเอาห้องแรกมากกว่า เหตุผลอีกข้อคือห้องแรกเพิ่งสร้างเสร็จ  แต่ห้องสองสร้างมาหกปี  แล้วที่มันไม่ได้เขียนในการคำนวณแบบนี้ คือห้องเบอร์สอง มันต้องใช้บริษัทค้ำประกัน (ดูข้อ 6 ด้านบน) ซึ่งคงต้องบวกเข้าไปอีกแสนเยน ดังน้น จริงๆ จะแพงกว่านี้   แต่มันมีแฟคเตอร์เรื่องราคาตอนแรกมาเกี่ยวข้อง ส่วนนี้ อาจจะมีผลทำให้คนต้องเลือกห้องสอง ก่อนห้องแรกก็ได้ ถ้ามาดูค่าแรกเข้า ห้องเบอร์หนึ่งที่ต้องจ่าย จะเท่ากับ (คิดซะว่าย้ายต้นเดือนพอดี)

ค่าเช่าเดือนแรก 135,000 + ค่าขอบคุณ 135000 คูณ 2 + ค่าประกัน 135000 คูณ 2 + ค่าเปลี่ยนกุญแจ ฯลฯ 40000 + ค่านายหน้า 0.5 คูณ 135000 สิริรวม 782500 เยน!!!!!!!

ส่วนห้องเบอร์สอง ค่าเช่าเดือนแรก 138000+7000 + ค่าขอบคุณ (ไม่มี) + ค่าประกัน 138000 (อ้อ ค่าประกันจะคิดเฉพาะค่าเช่า ไม่รวมส่วนกลาง 7000) + ค่าเปลี่ยนกุญแจ ฯลฯ 40000 + ค่านายหน้า 0.5 คูณ 138000 สิริรวม 392000 เยน!!!!

จะเห็นได้ว่า เบอร์สอง ทั้งค่าเช่าต่อเดือน หรือค่าเช่าตามเป้าหมาย ล้วนแพงกว่าห้องแรกอยู่ ทั้งนั้น แต่ค่าแรกเข้าที่ต้องจ่าย ต่างกันเกือบสองเท่า ดังน้ันคนไม่มีเงินเก็บ อาจถูกบังคับเลือกเบอร์สองโดยปริยาย แต่สาเหตุที่เราเลือกเบอร์หนึ่งไปก่อนก็เพราะ มันใหม่ (เหตุผลเดียวจริงๆ ที่ทำให้ชนะ 55) แล้วก็ค่าแรกเข้าแพงๆ มันจ่ายเครดิตการ์ดได้!!! ถ้ายอมเสียค่าธรรมนียมนิดๆ หน่อยๆ แล้วผ่อนสักสองสามเดือน แล้วจ่ายสดไปบางส่วน น่าจะพอไปได้   อ้อ ที่ว่าเลือกๆ เนี่ย ยังไม่ได้เลือกจริงๆ นะ ต้องผ่านกระบวนการก่อนอีก จะต่อราคากับเค้าได้ ต้องส่งประวัติ สลิปเงินเดือน ฯลฯ ไปก่อน ถ้าผ่านค่อยมาว่ากันเรื่องราคา ที่นี้ไอ้สมัครรอบนึง มันเสียเวลา นายหน้าเค้าออกตัวก่อนเลย ) บอกว่า ขอจำกัดแค่สองที่นะ (จริงๆ ตามกฏทำไม่ได้ ต้องสมัครที่เดียว ไม่งั้นเดี๋ยวเค้าว่าว่าแทงกั๊ก) เพราะถ้าคุณเล่นสมัครลองหลายที่ เท่ากับเค้าทำงานให้ห้าคน แต่ได้เงินจากคนเดียวเป็นต้น   เลยจำเป็นต้องเลือกที่ที่ชอบ และดูจะเวิร์กสุดไปก่อน จริงๆ แล้วอยากรู้ราคาที่ต่อรองแล้วของอีกสามสี่ที่ด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อเรืองมากแบบนี้ ก็จำเป็นต้องเลือกแค่สองที่ที่จะได้ไปต่อ   ย้ายบ้านในญี่ปุ่นมันลำบากฉะนี้แล

Credit: ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่ายครั้งแรก + ระหว่าง เช่าห้องในญี่ปุ่น (ประสบการณ์ตรง)